เวลาพูดถึงผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วมีคนพูดเกี่ยวกับการแต่งตัว ผมมักจะนึกถึงกรณีการที่เผลอวางกระเป๋าตังค์ในที่สาธารณะ เหตุผลของผมก็คือ:
จริงอยู่ เป็นสิทธิ์ของ [ผู้หญิง/คน] ที่จะ [แต่งตัวเซ็กซี่/ตั้งกระเป๋าตังในที่สาธารณะ] และคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะ [ข่มขืนเค้า/ขโมยกระเป๋าตังเค้า] แต่ถึงกระนั้น คนก็ยังควรจะ [แต่งตัวให้มิดชิด/เก็บกระเป่าตังให้มิดชิด] เวลาอยู่ในที่เสี่ยง เพราะถ้าคนจะ [ข่มขืน/ขโมยกระเป๋าตัง] การเห็น [คนแต่งตัวเซ็กซี่/กระเป๋าตังตั้งอยู่] ก็เป็นการล่อตาล่อใจให้คนมา [ข่มขืน/ขโมยกระเป๋าตัง] อยู่ดี — แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว เราก็ไม่ควรจะไปซ้ำเติมคนๆ นั้น แต่เราควรจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
ถ้าเป็น choice ข้างหน้า นักสิทธิ์ฯ ผู้หญิงน่าจะค่อนข้างเป็นเดือดเป็นร้อน แต่พอเป็น choice ข้างหลัง ผมว่าคนน่าจะเห็นด้วยมากกว่า ถามว่า มองแบบนี้ เป็น victim blaming หรือเปล่า?
เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับสงครามยูเครน – รัสเซีย ประมาณว่าสงครามเกิดจากยูเครนเชื่อคำยุของเมกาฯ อยากเข้า NATO จนไปขัดใจรัสเซีย หรืออะไรทำนองนี้ ผมนั่งคิดนอนคิดแล้วก็พบว่า:
จริงอยู่ เป็นสิทธิ์ของ [ยูเครน] ที่จะ [อยากเข้า NATO] และรัสเซียก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะ [บุกยูเครน] แต่กระนั้น ยูเครนก็ยังควรจะ [วางตัวให้เป็นกลางหน่อย] เวลาชายแดนตัวเองติดกับรัสเซีย เพราะถ้ารัสเซียจะ [บุกยูเครน] การ [อยากเข้า NATO] ก็เป็นการขัดหูขัดตา ชวนให้รัสเซียมา [บุกยูเครน] อยู่ดี — แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว เราก็ไม่ควรจะชี้นิ้วสมน้ำหน้ายูเครน แต่เราควรจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
คุ้นๆ มั้ยครับ?
อยู่ดีๆ ผมก็พบว่าหลักการเกี่ยวกับ victim blaming กลับสามารถนำมาปรับใช้ – หรืออย่างน้อยเล่าให้เข้ากัน – กับเรื่อง geopolitical ได้เฉยเลย แล้วการแสดงความเห็นอย่างข้างบนหนะ ถือว่าเป็น victim blaming หรือเปล่า
ที่สุดแล้ว ผมก็ต้องพูดตรงๆ ว่าผมไม่รู้คำตอบจริงๆ ว่าที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร แล้วมันต่างกันระหว่าง 3 เคสที่ยกขึ้นมานี้หรือเปล่า แล้วการเตือนก่อนที่เหตุจะเกิด จะถูกถือว่าเป็น victim blaming มั้ย?
หรือจริงๆ แล้วเราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่านี้? ถ้าเป็นเคสข้างบนอาจจะทำโดยการเพิ่มความกวดขันของเจ้าหน้าที่ หรือทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น อาจจะต้องทำควบคู่กันไป แต่สมมุติว่าพูดว่าเป็นรัสเซีย เราจะแก้รัสเซียได้จริงๆ เหรอ?
ใครช่วยให้คำตอบผมทีครับ